ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทั่วไปอำเภอไชโย


แผนที่
 


คำขวัญ
หมูทุบลือเลื่อง             พระเครื่องเกษไชโย
ผักตบโชว์จักสาน          มะกรูดหวานเชื่อมใจ

ประวัติความเป็นมา
บ้านไชโยสันนิษฐานว่าอาจตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๑๒๘ ในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้กรีธาทัพไปรบกับทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ในบริเวณที่เป็นอำเภอไชโยในปัจจุบัน ซึ่งจากประวัติศาสตร์ปรากฏว่ามีเพียงชื่อ "บ้านชะไว" และ "บ้านสระเกษ" เท่านั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สันนิษฐานว่าบ้านไชโยตั้งขึ้นหลังเสร็จสิ้นสงครามดังกล่าว และเพราะเหตุที่ชนะทัพพระเจ้าเชียงใหม่จึงได้ชื่อว่า "บ้านไชโย" อำเภอไชโยนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า อำเภอบ้านมะขาม เมื่อบ้านไชโยตั้งเป็นอำเภอเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยทางราชการได้นำชื่อวัดและหมู่บ้านตำบลไชโยมาเป็นชื่ออำเภอ ส่วนชื่ออำเภอบ้านมะขามก็ยกเลิกไป และแม้ที่ว่าการอำเภอจะตั้งอยู่ที่ตำบลจรเข้ร้องก็ไม่ได้ชื่อว่าอำเภอจรเข้ร้อง กลับได้ชื่อว่า อำเภอไชโย เพราะถือว่าชี่อไชโยเป็นสิริมงคลมากกว่า

ที่ตั้งและอาณาเขต
  อำเภอไชโยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองอ่างทอง ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองทางบกประมาณ 15 กิโลเมตร และทางน้ำประมาณ 14 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
·         ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอพรหมบุรี (จังหวัดสิงห์บุรี)
·         ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองอ่างทอง
·         ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธิ์ทอง

ภูมิประเทศ
ลักษณะทั่วไปเป็นที่ราบ มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ พื้นที่ทั่วไปจึงเหมาะแก่การ  ทำนา ทำสวน

ภูมิอากาศ
ค่อนข้างร้อน

สภาวะทางเศรษฐกิจ
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก ได้แก่  ทำนา ทำสวน  รับจ้าง ค้าขาย อาชีพเสริม ได้แก่
เลี้ยงสัตว์ ประมง

การปกครอง
     อำเภอไชโยแบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 51 หมู่บ้าน เทศบาลตำบล 2 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 3 แห่ง
 
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
· วัดไชโยราชวรวิหาร 
เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ มีนามว่า วัดไชโย ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามได้เลือกวัดนี้เป็นที่สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้ง ใน พ.ศ.2430 มีการปฏิสังขรณ์ทำให้พระพุทธรูปได้รับแรงกระเทือนจากการก่อสร้างพระวิหารก็พังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ทดแทน ใช้โครงเหล็กรัดอิฐปูนไว้ภายในลดขนาดจากองค์เดิมลง ได้รับพระราชทานนาม พระมหาพุทธพิมพ์ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา ศอก 7 นิ้ว และโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยให้เป็นพระอารามหลวง พระวิหาร มีความสูงใหญ่มากแห่งหนึ่ง รูปทรงแปลกตา ด้านนอกมีรูปทวารบาลลายรดน้ำ เป็นรูปเสี้ยวกวาง เสาหารด้านหน้า-หลังพระวิหารมีขนาดใหญ่โตมาก ภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นปางสมาธิ ผนังทุกด้านมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องพุทธประวัติ ภาพเหล่าทวยเทพที่วิจิตรงดงาม ยังอยู่ในสภาพที่ดี บานประตูแกะสลักอย่างประณีต 
        นอกจากจะเป็นวัดสำคัญของอำเภอไชโยแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้จักวัดนี้เป็นอย่างดี ได้แก่ พระสมเด็จเกษไชโยพระเครื่องที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณนานัปการ

· วัดสระเกษ 
เดิมชื่อวัดเสาธงหิน เหตุที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกษนั้น ตามประวัติเล่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จ พระเอกาทศรถได้ทรงยกทัพออกมาตั้งรับกองทัพพม่าที่บ้านสระเกษและทรงได้รับชัยชนะ พวกกองทัพไทยต่างยินดี และไชโยโห่ร้องรื่นเริง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรับสั่งให้พักกองทัพ ส่วนพระองค์ได้สรงน้ำชำระพระวรกาย ล้างพระพักตร์ และสระพระเกศา ณ ที่นี้นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงได้ชื่อว่าบ้านสระเกษหรือวัดสระเกษ
        การสร้างโบสถ์ของวัดสระเกษมีความสวยงามตามแบบศิลปะไทย โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 22.50 เมตร ครอบโบสถ์เดิมและได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปรจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้จารึกไว้ที่หน้าบันของโบสถ์ทั้งสองด้าน ส่วนภายในประดิษฐานพระพุทธเกษรังสีและรูปหล่อหลวงพ่อโต๊ะ พระเกจิที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของจังหวัดอ่างทอง

· วัดโพธิ์หอมหรือวัดเฉลิมกาญจนาภิเษก
เดิมเป็นวัดร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้คือ ปูนปั้นรูปบุคคล 4 หน้า ซึ่งเรียกว่า รูปพรหม 4 หน้า หรือพรหมพักตร์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ตั้งประดับประดาอยู่บนพานปูนปั้นหน้าศาลาซึ่งสร้างบนฐานของพระอุโบสถเดิม สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นส่วนยอดของประตูวัดหรืออุโบสถ หากว่ารูปปูนปั้นซึ่งมีจำนวน 2 ชิ้นนี้เป็นศิลปวัตถุของวัดนี้มาแต่เดิม เป็นเรื่องที่น่าสนใจในแง่ของความสำคัญของวัดแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปปูนปั้นในลักษณะนี้ที่ประดับอยู่ส่วนยอดประตูไม่พบที่อื่น ๆ ในเขตจังหวัดอ่างทอง มีพบอยู่เป็นส่วนยอดประตูพระราชวังชั้นในของกรุงศรีอยุธยา และประตูทางเข้าวัดมหาธาตุเชลียง สวรรคโลก

· วัดมหานาม
        
วัดแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระสังกัจจายน์ขนาดใหญ่ เหนือเศียรพระสังกัจจายน์ขึ้นไป บริเวณบนฉัตรสร้างเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และธาตุสาวก ภายในวัดยังมีหลวงพ่อขาว อายุร่วม ๔๐๐ ปี ที่สร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พุทธศาสนิกชน นิยมกราบไหว้ขอพร และรำกลองยาวแก้บน และในบริเวณวัด กลุ่มจักสานบ้านมหานาม ตำบลไชยภูมิ สมาชิกในกลุ่มจะช่วยกันผลิตผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา เช่น กระเป๋า แจกัน

การเดินทาง
·       รถยนต์
    
   จากกรุงเทพฯสามารถเดินทางได้หลายเส้นทางคือ 
            เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางสายพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 32 จากกรุงเทพฯ แยกเข้าเส้นทางสายเอเชีย ผ่านอำเภอบางปะอิน - พระนครศรีอยุธยา - อำเภอบางปะหัน - อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร 
            เส้นทางทาง 2 ใช้เส้นทางตัดใหม่ ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า - ตลิ่งชัน เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดนนทบุรี - ปทุมธานี - พระนครศรีอยุธยา - สุพรรณบุรี - อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร 
          เส้นทางที่ 3 ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ - ปทุมธานี ผ่านปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร - อำเภอเสนา - พระนครศรีอยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 3263 และต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 309 เข้าอำเภอป่าโมก - อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร หรือใช้ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)
รถตู้ปรับอากาศ
        มีรถตู้ปรับอากาศเส้นทาง อ่างทอง - กรุงเทพฯ ให้บริการเดินรถ เวลา05.00 - 19.00 น. ทุกวัน 
จุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร 
             กรุงเทพฯ      :        สถานีขนส่งหมอชิตใหม่ 
             รังสิต          :        ท่ารถบริเวณหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิต 
             อ่างทอง       :        สถานีขนส่งผู้โดยสายจังหวัดอ่างทอง 
 เส้นทางเดินรถตู้สาย 15 จากหมอชิตใหม่ - รังสิต - นวนคร - อยุธยา - ป่าโมก - อ่างทอง 
 เส้นทางเดินรถตู้สาย 902 จากหมอชิตใหม่ - รังสิต - นวนคร - อยุธยา - บางปะหัน - อ่างทอง 
 เส้นทางเดินรถตู้สาย 951 จากหมอชิตใหม่ - รังสิต - นวนคร - อยุธยา - อ่างทอง - วิเศษชัยชาญ - สุพรรณบุรี

ไม่มีความคิดเห็น: